วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Game of Thrones

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังใหม่เข้าโรงบ้านเรานั้นถือว่าไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจเท่าไรนัก ผมจึงขออนุญาตหยุดพักจากหนังโรงสักหนึ่งอาทิตย์ขณะรอการมาถึงของไอ้แมงมุมรีบู๊ตใหม่ใน The Amazing Spider-Man เพื่อแนะนำซีรี่ย์หรือ “หนังทีวี” เรื่องหนึ่งซึ่งทำให้ผมต้องอดตาหลับขับตานอนต่อกันหลายวัน เพราะความสนุกสนานและน่าติดตามของเนื้อเรื่องจนหลับไม่ลง เบื้องต้น บอกก่อนครับว่า ซีรี่ย์เรื่องนี้ได้คะแนนจากเว็บ Imdb ซึ่งเป็นเว็บหนังระดับโลก มากถึง 9.4 เต็ม 10 คะแนน!! 
       
        อันที่จริง ตอนแรก กะว่าจะเขียนถึง The Walking Dead ซีรีย์ซอมบี้ที่ถือว่ายอดเยี่ยมอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยการดำเนินเรื่อง บท ตลอดจนเนื้อหาอันเข้มข้น กระทั่งทำให้หลายคนจดจ่อรอคอยว่าเมื่อไหร่ ซีซั่นที่สามจะออกมาเสียที อย่างไรก็ดี พอได้ดู Game of Thrones แล้ว เรื่องราวของมันก็ดูจะวนๆ เวียนๆ อยู่ในหัวจนไม่พูดถึงไม่ได้
       
        Game of Thrones นั้นออกฉายเป็นตอนๆ ทางช่อง HBO เนื้อเรื่องของมันสร้างมาจากนวนิยายชุด A Song of Ice and Fire ของ “จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน” ซึ่งใช้รูปแบบของความเป็นแฟนตาซีผจญภัยผสมผสานเข้ากับอารมณ์ดราม่าเพื่อเล่าเรื่องราวการแย่งชิงบัลลังก์ความเป็นใหญ่ในอาณาจักรโบราณแห่งหนึ่ง หนังสือชุดนี้ได้รับการแปลไปแล้วกว่า 20 ภาษาทั่วโลก (สำหรับบ้านเรา แว่วๆ มาว่าฉบับแปลไทยน่าจะออกราวๆ ปลายปีนี้) และดำเนินมาจนถึงเล่มที่ห้าแล้ว อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับฉบับที่เป็นซีรี่ย์ ตอนนี้ มีให้ดูในรูปแบบดีวีดีแล้วสองซีซั่น
       
        ความมหัศจรรย์ของซีรี่ย์ (รวมทั้งหนังสือ) เรื่องนี้ อยู่ที่โครงสร้างอันมหึมาระดับมหากาพย์ของตัวเรื่อง โดยตั้งสมมติว่ามีดินแดนโบราณนามว่าเวสเทอรอสอันประกอบไปด้วย 7 อาณาจักรใหญ่ซึ่งแต่ละอาณาจักรก็ปกครองโดย 7 ตระกูลสำคัญ ปฐมบทของเรื่องราวเริ่มต้นที่กษัตริย์นามว่า “โรเบิร์ต บาราธอร์น” แห่งคิงส์ แลนดิ้ง อันเปรียบเสมือนเหมือนเมืองหลวงที่อาณาจักรอื่นๆ จะต้องขึ้นตรงต่อพระองค์ และก็เป็นที่แน่นอนว่า ด้วยขนาดพื้นที่ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลและผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย รวมไปจนถึงปมแค้นที่สะสมบ่มเพาะมาแต่กาลก่อน เรื่องที่ว่าจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้แย่งชิง ย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ตลอดทั้งเรื่อง เราจะพบว่า สิ่งที่นำพาตัวเรื่องให้ดำเนินไปข้างหน้า ก็คือ สงครามการต่อสู้ชิงชัยของบรรดาผู้นำตระกูลต่างๆ เพื่อที่ว่าตนเองจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรทั้ง 7
       
        เนื้อเรื่องหลักๆ ถูกผลักไปข้างหน้า ด้วยตัวละครสำคัญๆ 3-4 ตระกูล ทั้งตระกูลบาราธอร์นอันนำโดยกษัตริย์โรเบิร์ต, ตระกูลสตาร์คซึ่งมีหัวเรือใหญ่เป็นอดีตผู้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกษัตริย์โรเบิร์ตสมัยแย่งชิงราชบัลลังก์, ตระกูลทาร์เกเรียนผู้ตกต่ำเพราะถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ และตระกูลเลนนิสเตอร์ซึ่งดูเหมือนว่าจะพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อรอวันที่หวัง แม้จำต้องเก็บกลั้นความขมขื่นเพียงใดก็ตาม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายแล้ว ตัวละครทั้งหมดเหล่านี้ก็ถูกดึงให้เข้ามาร่วมใน Game of Thrones หรือ “สงครามแย่งชิงบัลลังก์” โดยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างอย่างหนึ่งก่อตัวอยู่รอบนอก นั่นก็คือเสียงลือเกี่ยวกับพวกไวท์วอล์คเกอร์ที่ถูกวาดภาพให้ดูเหมือนภูติผีปีศาจที่เพียงเอ่ยชื่อ ทุกคนจะต้องแสดงสีหน้าประหวั่นพรั่นพรึง
       
        สำหรับคนดูหนังหรือละคร เสน่ห์อย่างหนึ่งซึ่งจะดึงดูดให้เราตัดสินใจว่าจะดูหนังหรือละครเรื่องนั้นๆ ต่อไปหรือไม่ก็คือตัวละคร Game of Thrones มีสิ่งนี้พร้อมสรรพ แม้ว่าเนื้อเรื่องจะประกอบไปด้วยกลุ่มก้อนตัวละครที่หลากหลาย แต่ทว่าก็มีการเกลี่ยเวลาและฉากการแสดงให้อย่างเท่าเทียมจนคนดูจะรับรู้ได้ถึงความสำคัญในบทบาทของพวกเขา และที่สำคัญคือมิติเชิงลึกของตัวละครต่างๆ ที่ท้าทายต่อความรู้สึก “รัก-ชอบ-เกลียด-ชัง” ของคนดูผู้ชม เพราะทันทีที่เราอาจจะเผลอชิงชังตัวละครสักตัวเพราะเห็น “กรรมชั่ว” ที่เขาทำ แต่พอผ่านไปสักพัก เราก็อาจจะถูกผลักไปสู่ความรู้สึกแบบใหม่ เมื่อได้รู้เห็น “ที่มาที่ไป” หรือแรงจูงใจในการกระทำของพวกเขา พูดสั้นๆ ก็คือ ตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นที่รักหรือที่ไม่รัก ล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับอยู่
       
        โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า กลุ่มคนที่น่าจะได้ดูและสนุกกับซีรี่ย์เรื่องนี้ได้ดีที่สุด น่าจะเป็นคนที่สนใจการเมืองการปกครองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตัวเรื่องสามารถสะท้อนให้เห็นวิถีแห่งการเมืองได้อย่างเด่นชัด ผ่านตัวละครที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งจิตใจดีงามและแพรวพราวด้วยเหลี่ยมเล่ห์กลโกง คนบางคนรักเกียรติหวงแหนศักดิ์ศรียิ่งกว่าชีวิตและยอมสละได้แม้ชีวิตเพื่อดำรงเกียรติและศักดิ์ศรีไว้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยอมถอยให้กับความเลว ตวัดลิ้นพันเล่ห์เป็นว่าเล่นเพราะมองเห็นผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ไม่แตกต่างจากเรื่องราวทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัย
       
        กระนั้นก็ตาม ถึงแม้จะไม่ใช่คอการเมือง มันก็ยังจะเป็นซีรีย์ที่ดูสนุกสำหรับคุณอยู่ดี ทั้งนี้เพราะตัวเรื่องที่มีพัฒนาการและทำให้เราติดตามได้ตลอด สอดแทรกไปกับฉากการต่อสู้และสงคราม ถึงแม้ว่า เมื่อพูดกันอย่างถึงที่สุด ซีรี่ย์ชุดนี้มันจะไม่ได้เน้นแอ็กชั่นโครมครามอะไรมาก โดยเฉพาะซีซั่นแรกที่เน้นขายบทและการเดินเรื่องอันน่าตื่นเต้นติดตามมากกว่า นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่าถ้าบทดีซะอย่าง ที่เหลือก็ให้อภัยได้ อย่างไรก็ดี แม้จะไม่เน้นแอ็กชั่นมาก แต่พอถึงฉากแอ็กชั่นครั้งใด เป็นอันได้ลุ้นและมันได้ใจไปทุกครั้ง
       
        และบอกไว้ก่อนเลยนะครับว่า ซีรีย์ชิ้นนี้ค่อนข้างโหด ฉากตัดคอ, ฉากฆ่าฟัน อวัยวะเครื่องในกระจัดกระจาย ฯลฯ ถูกนำเสนอให้เห็นกันจะๆ แต่นี่ก็ควรรู้ว่า เป็นความจงใจมาตั้งแต่คนเขียนนิยายแล้วที่ประสงค์ให้มันเป็นนิยายที่สะท้อนความดิบ ความรุนแรง เหนืออื่นใดคือ การเปิดเปลือยเนื้อหนังมังสาของดาราตัวละครตลอดจนฉากเลิฟซีนชนิดที่เรียกได้ว่าโจ่งแจ้ง ถ้าเป็นบ้านเราก็น่าจะกดเรต 18+ บวกขึ้นไปได้เลย
       
        แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับว่า ถ้าคุณสามารถก้าวข้ามรายละเอียดตรงนี้ไปได้ แล้วมองไปที่แก่นแท้เนื้อในของมันจริงๆ หนังทีวีเรื่องนี้จะทำให้คุณจมดิ่งไปกับการตีแผ่ความงดงามและความอัปลักษณ์ของมนุษย์โดยมีการเมืองการปกครองเป็นแบ็กกราวน์ฉากหลัง
       
        บอกกล่าวอย่างเปิดใจครับว่า ตอนแรก ผมก็ไม่กระหายใคร่ดูซีรีย์เรื่องนี้เท่าไรนัก แต่ดูแล้วกลับติดจนหยุดไม่ได้ และที่ไม่อยากดูในตอนแรกก็เพราะคิดว่ามันคงไม่ต่างไปจากละครจักรๆ วงศ์ๆ ของบ้านเรา ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะว่ากันโดยสัดส่วนเนื้อเรื่องและรายละเอียดด้านตัวละครก็ชวนให้นึกถึงอะไรแบบนั้นอยู่ อย่างเช่น ชะตากรรมของเจ้าหญิงองค์น้อยในเรื่องอย่างอาร์ย่า ก็ดูคล้ายกับเจ้าหญิงตกยากสักองค์ในละครจักรๆ วงศ์ๆ วันหยุด นั่นยังไม่ต้องพูดถึงพวกสัตว์ประหลาด ก็มีให้เห็นในละครแบบที่ว่าของบ้านเรา ผมยังคิดนะครับว่า ถ้าละครพีเรียดย้อนยุคที่แต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนลิเกอย่าง Game of Thrones ขายได้ในอเมริกา ละครจักรๆ วงศ์ๆ บ้านเราก็น่าจะขายได้ในบ้านเขาด้วย หรือเปล่า?
       
        อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแฟนตาซีย้อนยุคและมีกลิ่นอายบรรยากาศที่หนักไปทางโบราณค่อนข้างเยอะ แต่โดยเนื้อหาแล้ว มันไม่เคย “ตกยุค” แต่อย่างใด เพราะไม่ว่ายุคก่อนหรือยุคนี้ สิ่งที่เราได้เห็นใน Game of Thrones ก็จะยังมีให้เห็นและเป็นจริงไปทุกยุคทุกสมัย และบางที เกิดใหม่อีกร้อยชาติ สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะยังไม่หมดสิ้น 

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Drive


ถ้าจะมีฉากหนึ่งฉากใดใน Drive ที่สามารถนิยามเอกลักษณ์ของหนังเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด มันคงเป็นฉากที่ ไดรฟเวอร์ (ไรอัน กอสลิง) บรรจงจูบ ไอรีน (แครี มัลลิแกน) สาวเสิร์ฟข้างห้องที่เขาหลงรัก อย่างดื่มด่ำในลิฟท์ ท่ามกลางแสงที่ค่อยๆ มืดสลัวลง คลอด้วยเสียงดนตรีประกอบอ่อนนุ่ม ส่วนจังหวะเคลื่อนไหวของพวกเขาก็อ้อยอิ่ง เชื่องช้า ขับเน้นอารมณ์โรแมนติกแบบไม่ปิดบัง... แต่แล้วแค่ไม่กี่วินาทีต่อมา ชายหนุ่มกลับหันไปซ้อมลูกสมุนมาเฟียในลิฟท์ แล้วกระทืบหัวเขาจนแหลกเหลวเป็นมะเขือเทศบด

ฉากดังกล่าวให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังนั่งดู In the Mood for Love อย่างเพลิดเพลินอยู่ดีๆ จู่ๆ ไอ้คนฉายหนังกลับหยิบฟิล์มม้วนแรกของ Irreversible มาใส่แทนซะงั้น!?

อาการช็อกหาได้เกิดจากความรุนแรงของภาพ เพราะในฉากก่อนหน้าเราได้เห็นตัวละครบางคนประสบชะตากรรมอนาถคล้ายคลึงกันมาแล้ว บ้างก็โดนยิงหัวระเบิด บ้างก็โดนค้อนทุบมือ แต่สาเหตุหลักน่าจะเป็นผลจากการที่หนังเผยให้เห็นอีกด้านของตัวละคร ซึ่งคนดูไม่ทันตั้งตัว หรือคาดคิดมาก่อนเสีย กล่าวคือ ไม่เพียงไอรีนเท่านั้นที่ตื่นตระหนกจากการได้เห็นอัศวินรูปหล่อ สุดแสนอ่อนโยน กลายร่างเป็นอสูรร้ายต่อหน้าต่อตา แต่คนดูเองก็รู้สึกไม่แตกต่างเท่าไหร่ เมื่อพวกเขาค้นพบว่า “ฮีโร่” คนนี้หาได้หยุดอยู่แค่การปกป้องคนรักจากภยันตราย เพราะแต่ละวิธีที่เขาเลือกนั้นจะต้องยิ่งใหญ่ อลังการ และเหนือจริงแบบเดียวกับในหนังอีกด้วย

นั่นดูเหมือนจะช่วยอธิบายว่าทำไมไดรฟเวอร์ถึงตัดสินใจสวมหน้ากากแบบเดียวกับตอนเข้าฉากสตันท์ในกองถ่าย ระหว่างการเดินทางไปชำระแค้น นีโน (รอน เพิร์ลแมน)

ณ จุดนั้นมันหาใช่การปลอมตัว เนื่องจากนีโนรู้แล้วว่าเขาเป็นใคร ขณะเดียวกัน หน้ากากดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยให้เขา “กลมกลืน” (ออกจะยิ่งโดดเด่นเสียด้วยซ้ำ) แบบเดียวกับรถ เชฟวี อิมพาลา ซึ่งใช้สำหรับขับพาโจรหลบหนีรถตำรวจในช่วงต้นเรื่อง ตรงกันข้าม หน้ากากเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนความพยายามที่จะสร้างตัวตนขึ้นใหม่ ตัวตนของผู้พิทักษ์ ในลักษณะเดียวกับซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย (หรือการโกนหัวทำผมทรงโมฮอว์คของ เทรวิส บิคเคิล ใน Taxi Driver) มันช่วยให้เขาสัมผัสถึงพลังบางอย่าง

“ผมคิดว่าเขาเป็นตัวละครที่ชอบดูหนังมากเกินไป” กอสลิงอธิบายบทบาทของตนใน Drive “เขาสับสนชีวิตจริงกับภาพยนตร์ แล้วพยายามสวมคราบเป็นฮีโร่ในหนังของตนเอง เขาเหมือนตัวละครที่เดินหลงทางอยู่ในดินแดนแห่งตำนานที่สร้างขึ้นโดยฮอลลีวู้ด”

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะนึกเปรียบเทียบตัวละครอย่างไดรฟเวอร์กับคาวบอยนิรนาม ซึ่งรับบทโดย คลินท์ อีตส์วู้ด ในไตรภาค spaghetti western ของ เซอร์จิโอ เลโอเน อันประกอบไปด้วย A Fistfull of Dollars (1963) For a Few Dollars More (1965) และ The Good, the Bad and the Ugly (1966) ไม่ว่าจะเป็นในแง่ตัวตนที่ปราศจากชื่อ รูปร่างที่ค่อนข้างสะโอดสะองแต่แข็งแกร่ง บุคลิกพูดน้อยต่อยหนัก มาตรฐานทางศีลธรรมที่ก้ำกึ่ง เครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ (แจ๊คเก็ตลายแมงป่อง/ผ้าคลุมไหล่) หรือของฮิตติดปาก (ไม้จิ้มฟัน/บุหรี่มวนเล็ก) ส่วนพล็อตเรื่องก็อาจทำให้หลายคนนึกถึงหนังคาวบอยคลาสสิกอย่าง Shane (1953) เกี่ยวกับชายแปลกหน้า ผู้เคยอาศัยอยู่ในโลกมืดและมีประวัติความรุนแรงมาก่อน (มือปืน/นักขับรถให้อาชญากร) ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือครอบครัว “คนธรรมดา” (สแตนดาร์ด) ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของกลุ่มอันธพาล ก่อนสุดท้ายจะขี่ม้า/ขับรถจากไปแบบไม่หวนคืนพร้อมบาดแผลสาหัส (หนังทั้งสองเรื่องไม่ได้สรุปชัดเจนว่าพวกเขาจะรอดชีวิตหรือไม่)

ขณะเดียวกัน ผู้กำกับ นิโคลัส วินดิง แรฟฟิน ยังจงใจอ้างอิงหนังฮอลลีวู้ดในอดีต (โดยเฉพาะยุค 1980) อีกหลายเรื่องผ่านหลากหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่บรรยากาศแบบเรโทรของแอลเอ. การใส่แบ็คกราวด์ให้ เบอร์นี โรส (อัลเบิร์ต บรูคส์) เคยเป็นโปรดิวเซอร์หนังยุค 1980 การออกแบบตัวหนังสือที่หยิบยืมมาจากหนังเรื่อง Risky Business (1983) ไปจนถึงดนตรีเทคโนป็อปย้อนยุคกรุ่นกลิ่นอาย Thief (1981) หนังเรื่องแรกของ ไมเคิล มานน์ จนอาจกล่าวได้ว่า Drive เป็นเหมือนหนังซ้อนหนัง ดำเนินเหตุการณ์อยู่ในโลกแห่งภาพยนตร์ที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ความรุนแรงแบบเลือดสาดที่ปรากฏบนจออาจให้อารมณ์ขึงขัง จริงจัง แต่ก็ทะลักกรอบจนดูเป็นการ์ตูนไปพร้อมๆ กัน ตัวละครถูกปลดเปลื้องจากความซับซ้อนทางอารมณ์ รวมถึงคำอธิบายประวัติความเป็นมา (ในนิยายรวมถึงบทภาพยนตร์มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับอดีตของไดรฟเวอร์มากกว่านี้ แต่โดนผู้กำกับตัดทิ้งออกทั้งหมด) แล้วถูกนำเสนอในลักษณะแม่แบบที่เรียบง่ายคล้ายเรื่องราวในนิทาน หรือตำนาน

ความรักที่ไดรฟเวอร์มีต่อไอรีนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นไอเดียบริสุทธิ์ ปราศจากนัยยะทางเพศอย่างสิ้นเชิง เป็นภาพแอ๊บสแตร็กมากเกินกว่าจะดึงดูดคนดูให้เข้าถึงอารมณ์ละเอียดอ่อนอย่างลึกซึ้ง เราลุ้นเอาใจช่วยพระเอกเพราะเขาเป็นเสมือนตัวแทนของความดีงาม อ่อนโยน (ผู้หญิงคนไหนจะไม่ใจอ่อน เมื่อเห็นเขาอุ้มเด็กชายที่กำลังหลับปุ๋ยไปนอนบนเตียง) ส่วนไอรีนกับลูกก็เป็นเสมือนตัวแทนของความอ่อนแอ บอบบาง แบบเดียวกับที่เราลุ้นเอาใจช่วยให้เจ้าชายเอาชนะมังกรแล้วเข้าไปช่วยเจ้าหญิงในปราสาทได้สำเร็จ บทบาทของตัวละครดูเหมือนจะถูกวางเอาไว้อย่างชัดเจน ตายตัว แทบจะเป็นขาวกับดำ ไม่มีความพยายามจะเข้าไปสำรวจอารมณ์ในเบื้องลึก ความขัดแย้ง ความหึงหวง หรือความสับสนใดๆ ในลักษณะของรักสามเส้า

หลายคนอาจคิดว่าพล็อตของ Drive เป็นการผลิตซ้ำที่น่าเบื่อหน่าย แต่จุดน่าสนใจอยู่ตรงที่แรฟฟินตระหนักดีในประเด็นดังกล่าว และเป้าหมายของเขาก็หาใช่การดึงดูดให้คนดู “เชื่อ” ตรงกันข้าม เขากลับตั้งใจนำเสนอเพื่อจะวิเคราะห์ สำรวจ และตั้งคำถามต่อการผลิตซ้ำเหล่านั้นต่างหาก

จะเห็นได้ว่า Drive เล่นสนุกกับการหักล้างความเชื่อ ความคุ้นเคยดั้งเดิม ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์ภายนอกกับตัวตนภายใน เริ่มตั้งแต่การเลือกนักแสดงอย่าง ไรอัน กอสลิง ที่โด่งดังจากบทหนุ่มชวนฝันใน The Notebook และหนุ่มอ่อนหวาน ขี้อายใน Lars and the Real Girl มารับบทหนุ่มนักบู๊สุดขรึม (แน่นอน ใครที่เคยตามดูผลงานยุคแรกๆ ของเขามาก่อนย่อมตระหนักว่าชายหนุ่มถนัดบท “โหด” ไม่แพ้กันจากหนังอย่าง Murder by Numbers และ The Believer) หรือการเลือกดาวตลกอย่าง อัลเบิร์ต บรูคส์ มาสวมวิญญาณมาเฟียจอมโหด สุดท้าย เมื่อไดรฟเวอร์ลุกขึ้นมากระทืบคนจนหัวแบะ แล้วตาลุงท่าทางไม่มีพิษสงอย่างเบอร์นีหยิบส้อมขึ้นมาทิ่มลูกตาเหยื่อแบบไม่อินังขังขอบ อาการช็อกย่อมมีสาเหตุมากกว่าแค่ภาพความรุนแรงที่ปรากฏ

ในฉากเปิดเรื่อง ไดรฟเวอร์ซิ่งรถช่วยเหลือโจรสองคนให้หนีพ้นเงื้อมมือตำรวจ แต่พอฉากต่อมาเรากลับเห็นเขาทำงานเป็นสตันท์ในกองถ่าย สวมหน้ากาก และใส่เครื่องแบบตำรวจ ในฉากที่ไดรฟเวอร์กำลังนั่งดูการ์ตูนอยู่กับเบนิชิโอ (คาเดน ลีออส) เขาตั้งคำถามเด็กน้อยว่ารู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนร้าย คำตอบนั้นเรียบง่าย นั่นคือ ฉลามย่อมเป็นตัวร้าย เพราะรูปลักษณ์ภายนอกของมันไม่เหมาะจะสวมบทเป็นพระเอกนั่นเอง

มองเผินๆ ไดรฟเวอร์ก็ไม่ต่างจากฉลามเท่าไหร่ รูปลักษณ์ภายนอก ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ล้วนบ่งชี้ชัดเจนว่าเขาเป็นพระเอก แต่แทนที่แรฟฟินจะปล่อยให้ไดรฟเวอร์ได้กลายสภาพเป็นฮีโร่อย่างแท้จริงเหมือนมือปืนใน Shane เขากลับเห็นความจำเป็นที่จะต้องใส่ฉากกระทืบหัวเข้ามา ซึ่งสร้างผลกระทบในระดับเดียวกับช็อตศพโจรใบหน้าเหวอะหวะใน A History of Violence และเลือดที่สาดกระหน่ำในฉากไคล์แม็กซ์ของ Taxi Driver ผลลัพธ์ของฉากดังกล่าวส่งผลให้คนดูตั้งคำถามต่อสถานภาพ “ฮีโร่” ของตัวละคร สภาพจิตใจที่ปราศจากสมดุล สันดานดิบที่ไม่อาจควบคุม รวมเลยไปถึงปฏิกิริยาต่อความรุนแรงบนจอภาพยนตร์

เพลง A Real Hero ของวง College ถูกนำมาเปิดซ้ำสองครั้งในฉากที่ไดรฟเวอร์พาไอรีนกับลูกไปนั่งรถเล่น กับฉากสุดท้ายที่ไดรฟเวอร์ขับรถจากไปหลังสะสางปัญหากับเบอร์นีเสร็จสิ้น ก่อนภาพจะตัดไปยังไอรีนเดินมาเคาะประตูห้องของเขา แต่ไม่พบเสียงตอบรับใดๆ น่าสนใจว่าเนื้อเพลงร้องย้ำไปมาระหว่างความเป็น “ฮีโร่ที่แท้จริง” กับ “มนุษย์ที่แท้จริง” ซึ่งย้อนแย้งกันอยู่ในที กล่าวคือ การยืนกรานของไดรฟเวอร์ที่จะสวมบทบาทแรก ทำให้เขากลับค่อยๆ ล้มเหลวในบทบาทหลัง เพราะสุดท้ายแล้ว ไอรีนก็แค่ต้องการ “มนุษย์ธรรมดา” สักคนที่จะคอยขับรถพาเธอกับลูกไปพักผ่อนริมลำธาร ไม่ใช่ “ฮีโร่” ที่ลงมือฆ่าเหล่าร้ายอย่างเลือดเย็น

ไม่น่าแปลกใจที่ผู้กำกับแรฟฟินเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้จากนิทานของสองพี่น้องกริมม์ ทั้งนี้เพราะจุดเด่นของ Drive อยู่ตรงการผสมผสานอารมณ์โรแมนติกชวนฝันกับความดุดัน แข็งกร้าวให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืน เสมือนการพาคนดูย้อนกลับไปสู่จุดกำเนิดของนิทานอันเลื่องชื่อทั้งหลาย ก่อน วอลท์ ดิสนีย์ จะพาสเจอร์ไรซ์มันให้กลายเป็นขนมหวานสำหรับทุกคนในครอบครัว เรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยด้านมืดและความรุนแรง เมื่อกบกลายสภาพเป็นเจ้าชายจากการถูกขว้างไปกระแทกกำแพง (The Frog King) เมื่อแม่เลี้ยงใจร้ายถูกบังคับให้ต้องเต้นรำด้วยรองเท้าเหล็กร้อนจนเสียชีวิต (Snow White) ในแง่หนึ่ง ความรุนแรงในนิทานของกริมม์เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยที่ เต็มไปด้วยความยากแค้น โหดร้ายทารุณ เด็กๆ ถูกทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมตามลำพัง ผู้หญิงถูกจับเผาด้วยข้อหาเป็นแม่มด โดยความเลวร้ายทั้งหลายในนิทานเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในป่าไม้ ส่วนหนึ่งเพื่อขู่ขวัญให้เด็กๆ หวาดกลัว และไม่ย่างกรายเข้าใกล้ป่า เพราะมันเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย โจร และอันตราย

เกือบสองร้อยปีผ่านไป ป่าไม้ได้กลายสภาพเป็นป่าคอนกรีต เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารสูงระฟ้า ปริศนาดำมืดหลากหลายถูกอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ความน่าสะพรึงไม่อาจจับต้องเป็นรูปธรรมได้อีกต่อไป “ป่าไม้” ในนิทานของกริมม์แห่งศตวรรษใหม่จึงถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างสัญชาตญาณและจิตใต้สำนึก ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเทียบไดรฟเวอร์เหมือนแมงป่อง ที่ไม่อาจต้านทาน “ธรรมชาติ” ของตัวเองได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วมันจะทำให้เขาต้องจบชีวิตอย่างน่าอนาถ หรือลงเอยด้วยความแปลกแยกไม่สิ้นสุดก็ตาม

อันตรายดังกล่าวชวนสะพรึงยิ่งกว่า เพราะนอกจากไม่อาจจับต้องมองเห็นได้แล้ว มันยังฝังลึกอยู่ในมนุษย์ทุกคน และกำลังเฝ้ารอวันที่จะประทุขึ้นมา

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

Solanin

ดูแบบไม่รู้อะไรเลย การ์ตูนต้นฉบับก็ไม่เคยอ่าน ตอนแรกนึกว่าเป็นหนังนักดนตรี พอเปิดมาชั่วโมงแรกกลายเป็นหนัง slice of life เลยเซอร์ไพรส์และชอบมาก เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กจบใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน (อาโออิ มิยาซากิ กับ เคนโงะ โคระ) ฝ่ายชายเคยมีความฝันอยากเป็นนักดนตรี ถึงจะยังคอยซ้อมวงกับเพื่อนๆ แต่โลกแห่งความเป็นจริงทำให้เขาต้องทำงานพาร์ทไทม์ ส่วนฝ่ายหญิงก็ต้องไปเป็น Office Lady นางเอกบรรยายชีวิตตัวเองอย่างเจ็บปวดมากว่า “ฉันไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไร แต่ฉันก็ใช้วันเวลาแต่ละวันไป เหมือนถูกอาบยาพิษ” ถึงครึ่งแรกของหนังจะมีอาการกุ๊กกิ๊กๆ ง้องแง้งๆ ตามสไตล์หนังญี่ปุ่นบ้าง แต่ก็รู้สึกว่ามันสมจริง หนังนำเสนออาการล่องๆ ลอยๆ ไม่รู้จะไปทางไหนได้ดีมากๆ Generation Y, Z น่าจะอินในพาร์ทนี้ได้ไม่ยาก

พอครึ่งหลังเป็นส่วนดราม่า ว่าด้วยการก้าวพ้นความตายของคนรัก ก็อาจจะชอบหนังน้อยลง เพราะหลายมุกมันค่อนข้างซ้ำๆ ในหนังแนวทางนี้ และหลายฉากก็ดูจงใจ แต่สิ่งที่ดีมันไม่พยายามจะบีบเค้นอะไรจากคนดูเลย (พูดให้เห็นภาพง่ายๆ มันเป็นหนังที่อยู่คนละฟากฝั่งกับหนังตระกูล Always แบบสามล้านปีแสง) และพอถึงฉากไคลแม็กซ์ ของเรื่อง (ตามรูป) ที่ อาโออิ มิยาซากิ ร้องเพลงธีมของหนัง เราก็ให้อภัยสิ่งที่ไม่ชอบทุกอย่างในหนังได้ทันที ดูแล้วแบบ ตาย ตาย ตาย ตาย ตาย ตาย ตายไปเลย มิยาซากิเล่นฉากนี้ดีจริงๆ คือ ณ จุดนั้นเราไม่สนใจแล้วว่าเธอจะเล่นกีต้าร์เองมั้ย เธอจะร้องเพลงเองจริงหรือเปล่า แต่การแสดงทางสีหน้าของเธอในฉากนี้มันเด็ดขาดจริงๆ จากที่เธอยิ้ม กลายเป็นเศร้า กลายเป็นร้องไห้ ฯลฯ ...Miyazaki-san! I have loved you for so long and I will love you until the end of the world!

อีกสิ่งที่ชอบมากคือการตัดสินใจลุกขึ้นมาร้องเพลงของนางเอก ไม่ได้ไปในทางซาบซึ้งประเภท “ฉันจะทำเพื่อสานฝัน/ทำให้ฝันของคนรักเป็นจริง” อะไรแบบนั้นเลย เธอร้องเพลงก็เพื่อจะปลดปล่อยตัวเองเท่านั้น แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีมากว่าการร้องเพลงกลายเป็น event อย่างหนึ่ง หลังจากฉากไคลแม็กซ์ไปแล้ว วงดนตรี/การร้องเพลงไม่ได้รับการพูดถึงอีกเลย อย่างไรก็ดี มีจุดที่เราซึ้งมากว่า เพลงธีม Solanin ในเรื่อง พระเอกแต่งขึ้นเพื่อ ‘บอกลา’ ตัวตนเก่าของตัวเองเพื่อจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคนรัก แต่ในฉากท้ายเรื่อง การที่นางเอกร้องเพลงนี้ มันคือการบอกลาตัวตนเก่าของตัวเองเช่นกัน แต่ด้วยความหมายที่ต่างออกไป นั่นคือการเป็นคนใหม่ที่ต้องมีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยไม่มีคนรักอีกต่อไป