BANNER LOTR SET DAY

“ข้าพเจ้ามิได้ชมชอบในรสชาติสุรา แต่ข้าพเจ้าชมชอบบรรยากาศการร่ำสุรา” นี่คือปรัชญาของปรมาจารย์นิยายกำลังภายใน “โกวเล้ง”ที่บรรดาคอเหล้าในวงเหล้ามักอ้างถึง  และหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างในการร่ำสุราเสมอ ซึ่งส่วนตัวก็ใช้ข้ออ้างนี้บ่อยๆ ^^ การดื่มแอลกอฮอล์ในระดับหนึ่ง พอกรึ่มๆ มันช่วยให้บรรยากาศการสนทนาสนุกขึ้นจริง เพราะในระดับที่ยังพอมีสติอยู่บ้าง เหล้าเบียร์ไปทำให้ความยับยั้งชั่งใจในการพูดลดน้อยลง ดังนั้น ในขั้นนี้เราจะพูดทุกอย่างที่คิด โดยเฉพาะในสิ่งที่ในเวลาไม่เมา ได้แต่กล้าคิด แต่ไม่กล้าพูดกัน บรรยากาศในวงเหล้าจึงเต็มไปด้วยเนื้อหาต่างๆ มากมาย ตั้งการพร่ำพรรณาเรื่องของตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์สังคม ศาสนา ไปจนถึงประลองยุทธ์ด้านปรัชญา ยิ่งในชีวิตจริงสภาพสังคมกดดันมากเท่าไหร่ เรื่องในวงเหล้าก็จะยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสในล้วงความลับชั้นดีเลยละ ^^ จนเมื่อสร่างเมาอดคิดไม่ได้ว่า “นี่ตรูบ่นอะไรไปนะ”
อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามาก็ใช่ว่าจะบอกแค่ด้านดีของเหล้าเบียร์อย่างเดียว ในระดับหนึ่งแอลกอฮอล์อาจทำให้การสนทนาสนุกขึ้น แต่หากระดับแอลกอฮอล์มันมากเกินไป มันจะไม่ใช่แค่ปากที่ขาดการยับยั้ง แต่จะเป็นสมอง ความคิด และร่างกายไปด้วยที่จะพังตามไป และเข้าสู่ภาวะ “เรื้อน” ซึ่งนั่นไม่สนุกแล้ว และอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นด้วย อย่าลืมว่าสุดท้ายปรมาจารย์โก้วเล้งก็ตายด้วยโรคตับแข็งนี่แหละ ดังนั้น หากคิดจะดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องมีความรับผิดชอบและรู้ลิมิตของตัวเองเช่นกัน ที่สำคัญ แม้บรรยากาศการร่ำสุราจะสนุกแค่ไหน แต่หากปล่อยตัวให้ติดอยู่ในบรรยากาศแบบนี้มากเกินไป สุดท้ายจะเกิดปัญหาไม่สามารถรับกับสภาพความเป็นจริงได้ จนต้องวิ่งหาวงสุราอยู่ร่ำไป เหมือนตัวละครใน “รักหมดแก้ว Love on the Rock” (บ่นมาตั้งนาน เข้าเรื่องสักที 555)
“รักหมดแก้ว Love on the Rock” หนังประจำสิ้นปีของ M๓๙ ที่คราวนี้ไม่ได้กำกับโดย “ยอร์ช-ฤกษ์ชัย” แต่เป็น “ยู-ษรัณยู จิราลักษณ์” หนังวางตำแหน่งตัวเองว่าต้องการเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านในชีวิต (Coming of Age) โดยเฉพาะประเด็นความรัก โดยมี “วงเหล้า” เป็นสื่อกลาง เป็นคอนเซปท์ที่แปลกๆ แต่ก็น่าสนใจดี แน่นอนเมื่อหนังวางวงเหล้าเป็นแกนหลัก ทั้งเรื่องเลยเต็มไปด้วยเหล้า เบียร์ และของมีนเมาอีกมากมาย ประมาณว่า สสส. มาเห็นคงต้องกรี๊ดสลบ (หรืออาจไม่… เพราะสุดท้ายยิ่งเหล้าขายได้เยอะเท่าไหร่ รายได้ของ สสส. ก็ยิ่งเยอะเท่านั้น) 
ที่ว่าเล่นประเด็นของการเปลี่ยนผ่าน เพราะรักหมดแก้วเลือกเจาะไปที่ตัวละครหลัก 2 คน คือ “บั๊กโจ้” (ณปรัชญ์ รัตนนิตย์) และ “ไฟเลี้ยว” (พิไลพร สุปินชมภู) คู่รักที่รักๆ เลิกๆ กันหลายครั้ง แม้สุดท้ายจะตัดสินใจอยู่ด้วยกันแบบไม่ผูกมัด แต่ก็ทำให้เกิดคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ กับพวกเขาว่า ชีวิตรักของเขาและเธอจะไปรอดได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อหนังจับเอาช่วงระยะเวลาหลังเรียนจบใหม่ๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการเดินออกจากพื้นที่อิสระที่ตัวเองจะทำ จะรัก จะคบยังไงก็ได้ เข้าสู่โลกแห่งความจริง ที่ทุกอย่างอาจไม่เหมือนกับที่คิด หนังใช้ “เหล้า” เพื่อมาเป็นสื่อว่า ความรักของ 2 คนนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากวงเหล้า ที่ตอนแรกก็สนุกสนานกับบรรยากาศในวงเหล้า แต่เมื่อสร่างขึ้นมา ตื่นมาพบกับโลกแห่งความเป็นจริง ก็จะเห็นว่ามันไม่ได้สวยงาม ไม่สนุกเหมือนตอนกินเหล้าแล้ว คราวนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าจะทำยังไง จะเลือกยอมรับความจริง หรือจมอยู่กับภาพฝันในวงเหล้าต่อไป สำหรับ “ไฟเลี้ยว” เธอเลือกทางแรก แต่สำหรับ “บั๊กโจ้” เขาเลือกทางหลัง แน่นอนเมื่อเลือกไม่ตรงกัน ก็เลยกลายเป็นชนวนปัญหาความรักของพวกเขาทั้ง 2 คน
เป็นหนังที่มีคอนเซทป์การเล่าเรื่องที่น่าสนใจดีนะ แต่พอถ่ายทอดออกมาก็ยังมีจุดติดขัดพอควร ปัญหาใหญ่โดยส่วนตัวเลยก็คือ บทพูดที่ดู “เลี่ยน” และประดิษฐ์มาก โดยเฉพาะบทสนทนาความรักระหว่าง บั๊กโจ้ กับ ไฟเลี้ยว ที่ไม่ต่างอะไรกับการสาดใส่คำคมความรักต่อกัน โดยที่ไม่ได้เนียนเข้ากับความรู้สึกเลย บทพูดเลี่ยนๆ แบบนี้ เมื่ออยู่ในวงเหล้ามันดูโอเค ดูเข้ากันได้ เพราะในชีวิตจริง เมื่อเหล้าเข้าปาก คำพูดเราจะออกมาแนววิจิตรมากกว่าที่คิดอยู่แล้ว แต่บังเอิญว่ามันไม่ได้อยู่แค่ในวงเหล้า หนังจับเอาบทพูดแบบนี้มาใส่ในพวกฉากทั่วๆ ไป ที่ตัวละครยังไม่ได้เมาด้วย จึงอาจเป็นปัญหาที่ทำให้ส่วนตัวยังไม่ค่อยอินกับความรักของทั้ง 2 คนสักเท่าไหร่ 
จุดขายอีกอย่างที่รักหมดแก้วชูขึ้นมา ก็คือเหล่าบรรดานักแสดงสมทบที่มาร่วมเล่นเป็นเพื่อนในวงเหล้าโดยขนนักร้องชื่อดังมาเล่นไม่ว่าจะเป็น มาช่า, อ๊อฟ ปองศักดิ์, สงกรานต์ The Voice, ป๊อป ปองกูล และ โก๋เอ็ม Buddha Bless ซึ่งก็สร้างสีสันและความสนุกได้เป็นอย่างดี (ออกจะดีกว่า part ความรักของพระนางด้วยซ้ำ) แม้หลายมุขจะแป๊กมากก็ตาม หนังยังมีฉากให้ตัวละครได้โชว์ซีนดราม่า โดยเฉพาะมาช่ากับอ๊อฟ ที่ก็ทำได้ประทับใจ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ต้องการสื่ออะไร เพราะตัวละครเหล่านีี้มาพบกันก็เพราะความสนุกในวงเหล้า แล้วทำไมตัวละครของมาช่าและอ๊อฟจึงผูกพันกันมากกว่าคนอื่นๆ เพราะหนังไม่ได้ฉายให้เห็นความสัมพันธ์นอกวงเหล้าของเหล่าตัวละครสมทบเลย ทำให้ซีนอารมณ์ที่ไปได้ไม่สุดเท่าที่ควร ประเด็นมิตรภาพที่พัฒนาจากวงเหล้าไปสู่ชีวิตจริงจึงไม่ชัด และไม่ต่างอะไรกับการใส่เข้ามาเพื่อต้องการให้มาช่าและอ๊อฟได้โชว์ความสามารถทางการแสดงเท่านั้น
น่าเสียดายที่ดูภายนอกเหมือนจะเป็นวงเหล้าที่ดูครื่นเครง น่าสนุก น่าเข้าไปร่วมวงด้วย แต่พอเข้าไปจริงๆ บรรยากาศกับกร่อยๆ กว่าที่คิด แถมเหล้าก็จืดชืดเสียเหลือเกิน

ความชอบส่วนตัว: 5/10


รักหมดแก้ว-04