วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

แก๊งชะนีกับอีแอบ


“คนสมัยนี้ทำไมดูยากจัง” นิ่ม (อรปรียา หุ่นศาสตร์) ถึงกับสบถออกมาอย่างหงุดหงิดในฉากหนึ่งของหนังเรื่อง แก๊งชะนีกับอีแอบ หลังจากเธอและพรรคพวกไม่สามารถหาหลักฐานชัดๆ มาพิสูจน์ได้ว่า ก้อง (เธียนชัย ชัยสวัสดิ์) เป็นอีแอบและไม่ควรจะแต่งงานกับ แป้ง (มีสุข แจ้งมีสุข) เพื่อนรักของพวกเธอ คาดว่าคำพูดข้างต้นของนิ่มไม่เพียงจะโดนใจบรรดาหญิงสาววิตกจริตทั้งหลาย ที่กำลังนึกสงสัยในตัวแฟนหนุ่ม คนรัก ว่าที่เจ้าบ่าว หรือ “เพื่อนสนิท” ของตนเท่านั้น แต่มันยังน่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากเหล่าชาวเกย์อีกด้วย

เรื่องตลกอยู่ตรงที่ คำว่า “ดูยาก” นั้นไม่ได้หมายถึงเกย์สมัยนี้ “แอ๊บแมน” เก่งขึ้น แต่เป็นเพราะผู้ชายยุคนี้ “แต๋วแตก” มากขึ้นต่างหาก

ปรากฏการณ์ “เมโทรเซ็กช่วล” ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้ เริ่มทำให้ “เกย์ดาร์” ของเหล่ารักร่วมเพศเกิดอาการแปรปรวนและทำงานไม่แม่นยำเช่นเคย ทุกวันนี้ ผู้ชายที่แต่งตัวเนี้ยบ ทำผมหวือหวา ออกกำลังกายในฟิตเนส และดูแลสภาพผิวของตนอย่างทะนุถนอม หาใช่เกย์เสมอไป ยิ่งไปกว่านั้น ความคลุมเครือดังกล่าวยังเริ่มกินความครอบคลุมไปถึงรสนิยม บุคลิก น้ำเสียง และภาษาท่าทางอีกด้วย

เพราะเหตุนี้เอง แบบทดสอบต่างๆ นาๆ ซึ่งพี่บี๋ (ไมเคิล เชาวนาศัย) แนะนำกับกลุ่มแก๊งชะนี จึงไม่อาจยืนยันอะไรให้แน่ชัดลงไปได้ ความจริง มันออกจะเชยหรือตกรุ่นไปแล้วด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับแนวคิด “เกย์สวมตุ้มหู” กับ “เกย์นิ้วก้อยกระดก” ของพวกสาวๆ นั่นแหละ หนังสามารถเฉลยให้ก้องเป็นหรือไม่เป็นอีแอบได้มากพอๆ กัน โดยคนดูจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจแม้เพียงนิด เนื่องจากมาตรฐานความเป็นชายได้เปลี่ยนแปลงไปมากและจะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกไม่รู้จบ ด้วยเหตุนี้ บทสรุปของหนังจึงหาใช่บทพิสูจน์ว่าแบบทดสอบของพี่บี๋เชื่อถือได้ ตรงกันข้าม มันเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าพวกแก๊งชะนี “โชคดี” เท่านั้น

แน่นอน แบบทดสอบดังกล่าวจะเชื่อถือได้อย่างไรในเมื่อมันกำลังสับสนบทบาททางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก กับรสนิยมทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ความเป็นชาย หรือพฤติกรรมที่สังคมยอมรับว่ามีความเป็นชายมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สไตล์บางอย่างที่ถูกมองว่ามีความเป็นหญิงในปัจจุบันอาจเคยเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ชายยุคโบราณ เช่น การแต่งหน้า การสวมเครื่องประดับ หรือการเข้าถึงดนตรีและศิลปะ แต่เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นหญิงเริ่มกินพื้นที่ครอบคลุมพฤติกรรมต่างๆ มากขึ้น สิ่งที่ได้รับการยอมรับว่า “แมน” ก็เริ่มถูกจำกัดมากขึ้นด้วย ผู้ชายคนใดร้องว้าย หรือกันคิ้ว หรือนิ้วก้อยกระดกเวลายกแก้วน้ำขึ้นดื่มจะถูกมองอย่างสงสัยว่าเป็นเกย์ ซึ่งผูกพันกับความเป็นหญิงอย่างแน่นแฟ้นในทันที รวมไปถึงการทาครีมบำรุงผิว สวมเสื้อผ้าพอดีตัว หรือการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเปิดเผย

เมโทรเซ็กช่วลเปรียบเสมือนปฏิกิริยาตอบโต้ปรากฏการ์ดังกล่าว ผู้ชายบางคนอาจรู้สึกเหมือนถูกกักขังอยู่ในขอบเขตอันคับแคบแห่งบทบาททางเพศ จึงพยายามเดินไต่ไปบนเส้นแบ่งที่เลือนลางลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันผู้หญิงเองก็เริ่มรุกคืบเข้ามาในขอบเขตของเพศชายมากขึ้น เมื่อพวกเธอทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้และมีทัศนคติแข็งกร้าวในเรื่องเพศ

จะว่าไปแล้ว กลุ่มแก๊งชะนีในหนังก็ดูไม่ต่างจากกลุ่มสี่สาวใน Sex and the City เท่าไหร่ พวกเธออาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีอาชีพการงานมั่นคง มีเงินจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย และกล้าจะเป็นฝ่ายรุกในเกมแห่งเพศ ดังเช่นกรณีของนิ่มและ เจ๊ฝ้าย (พิมลวรรณ ศุภยางค์) ในคืนวันลอยกระทง โดยสำหรับรายแรก บทสรุปดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากลักษณะงานของเธอ (ช่วงต้นเรื่อง คนดูจะเห็นเธอถ่ายเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยตัวเองของผู้หญิงไปให้เพื่อนสาว ส่วนในช่วงกลางเรื่อง คนดูก็จะเห็นโต๊ะทำงานของเธอซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยตัวเองและตำราท่าร่วมเพศ)

วิบากกรรมของพวกแก๊งชะนี (ความยากลำบากในการแยกแยะว่าผู้ชายคนไหนเป็นเกย์ หรือไม่ได้เป็นเกย์) เปรียบเสมือนการเล่นตลกของชะตากรรม กล่าวคือ การรุกคืบของผู้หญิงยุคใหม่ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งปรากฏการณ์เมโทรเซ็กช่วล (นอกเหนือจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม) ซึ่งต่อมาได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ชายกับเกย์ ที่เป็นเหมือนต้นแบบของเมโทรเซ็กช่วลอีกที ค่อยๆ เลือนลางลงอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อต้องเลือกระหว่าง เรโทรเซ็กช่วล (retrosexual) หรือผู้ชายยุคเก่า (คุณสมบัติสำคัญได้แก่ หลีกเลี่ยงความเป็นหญิงทุกรูปแบบ แสดงออกทางอารมณ์อย่างจำกัด ไขว่คว้าความสำเร็จและสถานะ พึ่งพิงตนเอง เข้มแข็ง ก้าวร้าว และเกลียดกลัวรักร่วมเพศ) กับเมโทรเซ็กช่วล ดูเหมือนบรรดาผู้หญิงยุคใหม่จะยังพิสมัยฝ่ายแรกมากกว่า เห็นได้จากทัศนคติของ ป๋อม (พัชรศรี เบญจมาศ) ตอนเห็น ออฟ (ดาวิเด โดริโก้) แต่งตัวเต็มยศเพื่อหวังจะเอาชนะใจเธอ หรือบุคลิกของบรรดาตัวละครผู้ชายคนอื่นๆ ที่พวกแก๊งชะนีหลงรักอย่าง เคนจัง (ยาโน คาซูกิ) พี่โจ้ (กนิษฐ์ สารสิน) และ เฮียเพ้ง (มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร) ซึ่งล้วนแตกต่างจากก้องเหมือนมาจากดาวคนละดวง โดยในกรณีของพี่โจ้ เราจะเห็นความแตกต่างดังกล่าวอย่างชัดเจนในฉากที่เขาและก้องไปเดินช็อปปิ้งยกทรงเป็นเพื่อนผู้หญิง โดยคนหนึ่งจะแสดงความเห็นและอารมณ์เพียงน้อยนิด ด้วยใบหน้าเบื่อๆ เซ็งๆ เล็กน้อย ขณะที่อีกคนกลับหยอกล้อและสะดวกใจในการหยิบจับโน่นนี่โดยไม่เขินอาย

มาร์ค ซิมป์สัน นักข่าวชาวอังกฤษผู้คิดค้นคำว่าเมโทรเซ็กช่วลขึ้นเคยเขียนว่าวิธีจับแอบเมโทรเซ็กช่วลนั้นง่ายนิดเดียว นั่นคือ เพียงแค่ “มองดู” พวกเขา เพราะความเป็นเมโทรเซ็กช่วลนั้นสามารถวัดกันได้ง่ายๆ โดยภาพลักษณ์ภายนอกและพฤติกรรมบางอย่าง มันเป็นเรื่องของการท้าทายบทบาททางเพศดั้งเดิม (ผู้ชายต้องเล่นหุ่นยนต์ ผู้หญิงต้องเล่นตุ๊กตา ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ผู้หญิงต้องอ่อนไหว ฯลฯ) มันเป็นเรื่องของการหลงตัวเอง มันเป็นเรื่องของไลฟ์ สไตล์ ซึ่งไม่ซับซ้อนและยากต่อการจัดแบ่งประเภทมากเท่ารสนิยมหรือตัวตนทางเพศ

พวกแก๊งชะนีเองก็ดูเหมือนจะตระหนักดีในระดับหนึ่งว่า หลักฐานทุกอย่างที่พวกเธอได้มานั้นเพียงแค่พิสูจน์ให้เห็นว่าก้องเป็นเมโทรเซ็กช่วล หาใช่โฮโมเซ็กช่วล ดังนั้น พวกเธอจึงไม่กล้าเอ่ยปากบอกแป้งตรงๆ ถ้าคุณลักษณะภายนอกสามารถบ่งชี้ตัวตนภายในได้แล้วละก็ เดวิด เบคแฮม คงใกล้เคียงกับรักร่วมเพศมากกว่าสองตัวเอกใน Brokeback Mountain อยู่หลายช่วงตัว

แล้วข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ “รักร้อน” ในห้องล็อกเกอร์สมัยที่ก้องยังเป็นเด็กอยู่ล่ะ พอจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของรักร่วมเพศได้ไหม

อาจจะได้ แต่ก็เบาหวิวเหลือทน

เซ็กซ์ระหว่างเด็กชายวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในโรงเรียนชายล้วน แบบสำรวจพฤติกรรมทางเพศของต่างประเทศก็เคยระบุว่าผู้ชายแท้ๆ หรือ heterosexual เกินครึ่งล้วนเคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราต้องยอมรับ ก็คือ ในปัจจุบันตัวตนทางเพศดูเหมือนจะเริ่มแบ่งแยกให้ชัดเจนได้ยากขึ้นทุกที

จากงานเขียนของ ไมเคิล บาร์ทอส ในหนังสือ Meaning of Sex Between Men ผู้ชายหลายคน ขณะถูกสัมภาษณ์สำหรับงานวิจัยเรื่องเอดส์ ไม่เรียกตัวเองว่ารักร่วมเพศ ถึงแม้เขาจะเคยแอบหลบเมียและลูกๆ ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นครั้งคราว โดยผู้ถูกสัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรที่ผมจะมีเซ็กซ์กับผู้ชายเป็นครั้งคราว สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ ผมแต่งงานแล้วและมีความสุขกับชีวิต... กิจกรรมยามบ่ายในบางวันของผมไม่ใช่ธุระกงการของใคร” อีกคนปฏิเสธการถูกตีตราว่าเป็นรักร่วมเพศอย่างชัดเจนกว่า “ผมไม่ใช่เกย์ เพศสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นสิ่งที่ผมทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ มันกินเวลาในชีวิตของผมเพียงน้อยนิด ส่วนเวลาที่เหลือผมเป็นผู้ชายรักต่างเพศธรรมดาที่แต่งงานแล้วและมีครอบครัว”

พวกเขาเป็นอีแอบที่ไม่ยอมรับความจริงใช่ไหม แล้วคนที่ตีตราตัวเองว่าเป็นไบเซ็กช่วลล่ะ พวกเขากำลังหลอกตัวเองด้วยหรือเปล่า ถ้าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายทำให้คุณเป็นรักร่วมเพศ งั้นบรรดาผู้ชายขายตัวในบาร์เกย์ก็ย่อมต้องเป็นรักร่วมเพศทั้งหมดน่ะสิ

ต่อประเด็น “ตัวตนแห่งรักร่วมเพศ” หนังเรื่อง แก๊งชะนีกับอีแอบ ดูเหมือนจะตั้งตนอยู่กึ่งกลางระหว่างสองแนวคิดหลัก คือ essentialist (เชื่อว่าตัวตนทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ มีมาแต่กำเนิด เป็นอิสระจากวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม) กับ constructionist (เชื่อว่าตัวตนทางเพศนั้นยืดหยุ่นได้ โดยมีผลมาจากสภาพสังคม อิทธิพลภายนอกและวัฒนธรรม) กล่าวคือ มันให้ความสำคัญต่อการสืบเชื้อสายทางกรรมพันธุ์ (มีคุณน้าเป็นเกย์สาวที่ชอบจัดดอกไม้) มากพอๆ กับประสบการณ์ฝังใจ (รักร้อนในห้องล็อกเกอร์) และเมื่อก้องมาขอความช่วยเหลือจากพี่บี๋และป๋อมเพราะเขารู้สึกสับสน ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็น “อะไร” กันแน่ คำตอบที่เขาได้รับก็มีทั้ง “ต้องลองดู” (แล้วเธอจะบอกได้เองจากประสบการณ์) และ “เธอรู้อยู่แล้วว่าเธอต้องการอะไร เพียงแต่เธอจะยอมรับมันหรือเปล่าเท่านั้น” (มันอยู่ข้างในตัวเธอมาตั้งแต่แรกแล้ว)

จนถึงจุดนี้ หนังยังคงไม่ปล่อยให้คนดูปักใจเชื่อฟากใดฟากหนึ่งอย่างจริงจัง ก้องสามารถจะเป็นเกย์ หรือไม่เป็นเกย์ได้มากพอๆ กัน แต่การที่หนังเลือกจะจบแบบที่คนดูได้เห็นดูเหมือนจะช่วยลดแรงกระแทกต่อพฤติกรรมยุ่งเรื่องชาวบ้านของแก๊งชะนีได้ไม่น้อย

การผสมผสานสองแนวคิดหลักเข้าด้วยกันของ แก๊งชะนีกับอีแอบ ทำให้หนังเรื่องนี้ค่อนข้างร่วมสมัยและหัวก้าวหน้ากว่าหนังไทยเกี่ยวกับรักร่วมเพศส่วนใหญ่ ซึ่งมักโน้มเอียงเข้าหาหลักการของ essentialist แบบสุดโต่ง ตั้งแต่ พรางชมพู จนถึงล่าสุด คือ เพลงสุดท้าย (“ถ้าเลือกเกิดได้ หนูคงไม่เลือกเกิดมาเป็นอีกะเทยแบบนี้”) เพราะบางครั้งประเด็นเกี่ยวกับตัวตนทางเพศนั้นก็ซับซ้อนและละเอียดอ่อนเกินกว่าจะระบุบ่งบอกให้ชัดเจน เฉกเช่นบทเปรียบเทียบของแม่แป้งว่า “เกลือ” กับ “น้ำตาล” ไม่สามารถจะทดแทนกันได้

ปัญหาในปัจจุบันหาใช่ว่าเราแทบจะดูไม่ออกว่าเกลือกับน้ำตาลแตกต่างกันอย่างไรเท่านั้น แต่บางครั้งกระทั่งได้ลองชิมไปแล้วก็ยังไม่เห็นความแตกต่างอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

Interstellar


บางครั้งการดูหนังของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็เหมือนการเล่นรูบิคหรือต่อภาพจิ๊กซอว์ คุณต้องใช้สมาธิและความพยายามมากกว่าปกติในการเชื่อมโยงข้อมูลหลากหลายให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่สมบูรณ์และ ลงล็อก” พอดิบพอดี จนสุดท้ายย่อมนำไปสู่ความรู้สึกพึงพอใจกึ่งภาคภูมิใจของผู้เล่น/คนดูที่สามารถไขปริศนาได้สำเร็จ

โดยปกติแล้วงานประดิษฐ์อันซับซ้อนและสร้างสรรค์ของโนแลนมักจะอยู่ตรงวิธีเล่าเรื่องมากกว่าตัวเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิธีเล่าเรื่องแบบย้อนหลัง (Memento) สลับและกระโดดข้ามไปมา (The Prestige) หรือซ้อนทับกันหลายชั้น (Inception) แต่สำหรับกรณี Interstellar ดูเหมือนความซับซ้อนที่มักจะช่วยยกระดับผลงานเขาให้อยู่เหนือผลงานสไตล์บล็อกบัสเตอร์ทั่วๆ ไปอย่างหนังชุด Transformers และ The Fast and the Furious คราวนี้ได้ถูกโอนย้ายมายังตัวเรื่องแทนการเล่าเรื่องผ่านวิธีระดมใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เรื่องหลุมดำ รูหนอน ไปจนถึงมิติที่ 5 เพื่อสร้างความสมจริงให้จินตนาการเกี่ยวกับการเดินทางข้ามระบบสุริยะจักรวาล

พล็อตหลักๆ ของ Interstellar อาจไม่ยากต่อการทำความเข้าใจสักเท่าไหร่สำหรับคนที่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านฟิสิกส์และจักรวาลมากพอตัว แต่คงสร้างอารมณ์งุนงงสับสนได้บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับคนดูชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพหรือทฤษฎีควอนตัม หนังดำเนินเหตุการณ์ในโลกอนาคตเมื่อเกิดวิกฤติอาหารขาดแคลน เพราะพืชพันธุ์นอกเหนือจากข้าวโพดไม่อาจเติบโตได้เนื่องจากพายุฝุ่น ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้ประชากรโลกลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์เต็มที แผนการลับๆ ของนาซา ภายใต้การนำของศาสตราจารย์แบรนด์ (ไมเคิล เคนคือ ส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวดวงอื่นในอีกระบบสุริยะจักรวาลผ่านรูหนอน ซึ่งจู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นอย่างลึกลับและถูกจังหวะตรงบริเวณใกล้ดาวเสาร์ โดยเชื่อกันว่าน่าจะเป็นฝีมือของสิ่งมีชีวิตที่เหนือกว่ามนุษย์

ภารกิจส่งยานอวกาศไปสำรวจก่อนหน้าทำให้นาซาได้ข้อมูลว่ามีดาว 3 ดวงโคจรอยู่รอบหลุมดำที่เผ่าพันธุ์มนุษย์อาจสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ด้วยความบังเอิญ (หรือมีพลังบางอย่างชักนำ?) คูเปอร์ (แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์อดีตนักบินอวกาศที่ผันตัวมาทำไร่ข้าวโพด ค้นพบฐานที่มั่นลับของนาซาและได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำยานเอ็นดัวแรนซ์ออกไปสำรวจดาวทั้งสามพร้อมกับนักบินอวกาศอีกสามคน หนึ่งในนั้น คือ อมีเลีย(แอนน์ แฮทธาเวย์ลูกสาวของแบรนด์ เพื่อเตรียมสร้างอาณานิยมบนดาวซึ่งมีความเป็นไปได้สำหรับการอยู่อาศัยมากที่สุด ขณะเดียวกันแบรนด์ก็จำเป็นต้องไขสมการควบคุมแรงโน้มถ่วงให้สำเร็จ เพื่อนาซาจะได้สามารถส่งสถานีอวกาศขนาดมหึมา บรรทุกมนุษย์บนโลกที่ยังเหลือรอดอยู่ ขึ้นไปยังอวกาศ (แผน A) แต่หากแบรนด์แก้สมการไม่สำเร็จ ทีมเอ็นดัวแรนซ์จะต้องปกป้องมนุษยชาติไม่ให้สูญพันธุ์ด้วยการนำเอ็มบริโอ ซึ่งถูกคัดเลือกอย่างละเอียดเพื่อรับประกันความหลากหลายของสายพันธุ์ ไปยังดาวที่มีโอกาสอยู่อาศัยได้สูงสุดแล้วแพร่พันธุ์มนุษย์รุ่นใหม่ (แผน B)

หนังเริ่มต้นในลักษณะเดียวกับ 2001: A Space Odyssey โดยเปรียบรูหนอนเสมือนแท่งดำลึกลับ แต่ตรงกันข้ามกับ สแตนลีย์ คูบริค สุดท้ายแล้วโนแลนไม่อาจต้านทาน ปมรูบิค” ในตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะคงไว้ซึ่งความลึกลับ เป็นปริศนาที่ปราศจากคำตอบแน่ชัด Interstellar กลับลงเอยด้วยการคลี่คลายทุกคำถามแบบครบถ้วน แล้วค่อยๆ จัดเรียงพล็อตเรื่อง ตลอดจนเบาะแสที่ยังค้างคาให้มารวมตัวกันแบบ ลงล็อก” พอดีในช่วงไคล์แม็กซ์ เมื่อคูเปอร์หลุดเข้าไปยังมิติที่ 5 ในหลุมดำ แม้ว่าการเดินหน้าสู่คำเฉลยดังกล่าวจะเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลอะเทอะ หรือเข้าขั้นเพ้อเจ้อมากเพียงใดก็ตาม เขาโหยหาความเป็นระเบียบ ลงตัว และภาพรวมที่สมบูรณ์ชัดเจน ขณะที่คูบริคเลือกจะปล่อยช่องว่างให้คนดูแต่ละคนค้นหาตัวต่อมาเติมเต็มตามแต่จินตนาการ

จักรวาลใน Interstellar กลายเป็นเหมือนความฝันใน Inception ความลึกลับเกินคาดเดาและปราศจากรูปทรงอันชัดเจนของพวกมันได้ถูกปั้นแต่งให้มีหลักเกณฑ์ตายตัว ดุจเดียวกับชั้นสีของรูบิค ซึ่งหากคุณสามารถบิดเรียงตำแหน่งได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถไขปริศนาได้

นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าอื่นๆ ของโนแลนยังคงปรากฏอยู่ครบถ้วนในInterstellar ไม่ว่าจะเป็นความหมกมุ่น ลุ่มหลงของตัวละคร การหล่นหายของเซ็กซ์ อารมณ์อีโรติก หรือนัยยะทางเพศใดๆ ความตายของภรรยา หรือคู่รัก บ้างก็ถูกฆ่าตาย บ้างก็เสียชีวิตจากโรคร้าย หรือการตัดสลับ(cross-cutting) ตั้งแต่สองเหตุการณ์ขึ้นไปเข้าด้วยกัน และบางครั้งก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนละช่วงเวลา เช่นเดียวกับการตั้งคำถามเชิงศีลธรรม เช่น เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤติ มนุษย์จะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือเลือกทำเพื่อตัวเองก่อน

แบรนด์เชื่อว่าแผน ไม่มีทางเป็นไปได้ และพยายามปกปิดจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของยานเอ็นดัวแรนซ์ ซึ่งก็คือ การบรรลุแผน เพราะเขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ ตลอดจนเหล่าผู้นำของโลกคงไม่เห็นด้วยกับการทุ่มเงินทุนจำนวนมหาศาลเพียงเพื่อการดำรงอยู่แห่งเผ่าพันธุ์มนุษย์แลกกับการเสียสละทุกชีวิตบนโลก ทั้งนี้เนื่องจากการเอาตัวรอดเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานในเบื้องลึกของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากกรณีของดร.แมน (แม็ท เดมอนที่ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อตัวเองโดยไม่สนว่าการกระทำของตนจะส่งผลเสียหายในวงกว้างมากแค่ไหน ในฉากเปิดเรื่อง ประวัติศาสตร์แห่งการสำรวจดวงจันทร์ได้ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นทฤษฎีสมคบคิด เมิร์ฟ (แม็คเคนซี ฟอย)ยืนกรานว่ามนุษย์เคยไปเหยียบดวงจันทร์จริง แต่คุณครูที่โรงเรียนกลับบอกว่ามันเป็นเพียงแผนล่อหลอกให้ประเทศรัสเซียล้มละลายต่างหาก... ท่ามกลางภาวะอดอยาก แร้นแค้น ผู้คนย่อมสนใจแต่เรื่องปากท้อง พวกเขาไม่มีเวลาให้กับการสำรวจอวกาศ หรือการต่อชีวิตแก่มวลมนุษยชาติ แบรนด์คิดแผน ขึ้นมาเพราะเชื่อว่าแผน ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากทุกคนทราบว่าพวกเขาไม่ได้รับเชิญให้ขึ้นเรือของโนอาห์ แต่จะต้องจมทะเลฝุ่นตายในอนาคตอันใกล้

ในเวลาเดียวกัน การตัดสินใจลาจากลูกสาวสุดรักเพื่อไปสำรวจดวงดาวของคูเปอร์ก็หาใช่วีรกรรมน่ายกย่องอย่างสมบูรณ์แบบเสียทีเดียว เขายอมร่วมโครงการไม่ใช่เพื่อรักษาสายพันธุ์แห่งมวลมนุษย์ แต่ด้วยความหวังว่าภารกิจดังกล่าวอาจสามารถช่วยลูกๆ เขาให้รอดพ้นจากวิกฤติ ถ้าคูเปอร์ตระหนักว่าแผน ไม่มีวันเป็นไปได้ เขาจะยังตัดสินใจแบบเดิมหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่อยู่ในสถานะที่จะตัดสินอมีเลีย เมื่อเธอเลือกจะไปสำรวจดาวเอ็ดมันด์แทนดาวมิลเลอร์ ด้วยความหวังว่าอาจได้พบกับคนรักที่เดินทางมาสำรวจดาวดวงนี้ก่อนหน้า คูเปอร์กล่าวหาอมีเลียว่าปล่อยให้อารมณ์มีอิทธิพลเหนือเหตุผล เป็นเหตุให้ฝ่ายหลังต้องโต้กลับว่าพวกเขาสามารถไปสำรวจดาวทั้งสองดวงได้ หากคูเปอร์ล้มเลิกความหวังที่จะเดินทางกลับโลกเพื่อไปหาลูกสาว

ความลุ่มลึกอาจไม่ใช่จุดแข็งของ คริสเตอร์เฟอร์ โนแลน ดังจะเห็นได้จากบทสนทนาที่ชวนให้ขนลุกขนชันในบางช่วงตอน โดยเฉพาะฉากที่อมีเลียลุกขึ้นมาปกป้องความรักว่ามันมีพลังเหนือมิติของปริภูมิและเวลา การโหมกระหน่ำดนตรีประกอบในระดับสุดโวลุ่ม ตลอดจนการอ้างอิงบทกวีของ ดีแลน โธมัส ซ้ำถึง 3 ครั้ง ราวกับกลัวว่าคนดูจะไม่เข้าใจความหมายที่เขาต้องการบอกกล่าว แต่โนแลนก็ชดเชยข้อบกพร่องข้างต้นได้ด้วยความอลังการของงานด้านภาพ อาจไม่ใช่ในแง่การจัดองค์ประกอบภาพ หรือการเคลื่อนกล้อง (โนแลนเลือกถ่ายทอดฉากดรามาในลักษณะโคลสอัพแทนที่จะถอยกล้องออกมาอีกนิดเพื่อให้นักแสดงได้ปฏิสัมพันธ์กันผ่านภาษาท่าทางมากขึ้น และเขาก็ไม่ได้โปรดปรานการถ่ายทำแบบลองเทค แต่อย่างน้อยก็น่ายินดีว่าฉากแอ็กชั่นใน Interstellar ดูจะไม่สับสน วุ่นวายเหมือนไตรภาคแบทแมนแต่เป็นในแง่ของจินตนาการแบบจอกว้าง ไม่ว่าจะเป็นดวงดาวที่เต็มไปด้วยผืนน้ำสูงเรี่ยเข่า แต่สามารถก่อกำเนิดคลื่นสูงเท่าตึกหลายชั้น หรือภาพจำลองหลุมดำ ซึ่งนอกจากสวยงามน่าตื่นตาแล้ว ยังมีความสมจริงอีกด้วย เนื่องจากเขามีที่ปรึกษาเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังอย่าง คิป ธอร์น

บางทีความลักลั่นของ Interstellar อยู่ตรงที่ท่ามกลางความพยายามสูงสุดที่จะให้ข้อมูลเชิงฟิสิกส์ เพื่อสร้างความสมจริงให้แก่เรื่องราวทั้งหมด การพลิกตลบในช่วงท้ายโดยเปรียบเทียบความรักกับแรงโน้มถ่วง เป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้คูเปอร์สามารถสื่อสารทะลุเวลามายังลูกสาวของเขาบนโลก และดีไม่ดีอาจสื่อความนัยถึงขั้นว่ามันเป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับเราให้กลายเป็น พวกเขา” ในมิติที่ 5 ได้ทำลายความจริงจัง น่าเชื่อถือต่างๆ ของนิยายวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้จนเกือบหมดสิ้น แล้วพาหนังเข้าไปสู่ขอบเขตของผลงานแฟนตาซีสมบูรณ์แบบ

แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธถึงพลังแห่งความรัก ซึ่งมีส่วนผลักดันและดึงดูดมนุษย์อย่างมหาศาล แต่การนำเสนอมันในฐานะค่าที่ตรวจวัดได้ หาใช่เพียงปฏิกิริยาเคมีในสมองถือเป็นการก้าวกระโดดจากหลักเหตุผลไปสู่ศรัทธาที่ฉุกละหุกและฉับพลันเกินกว่าจะโน้มน้าวให้น่าเชื่อถือ ที่สำคัญ ถ้าสุดท้ายแล้วประเด็นที่ต้องการสื่อสาร ได้แก่ ความรักและสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ คุณไม่เห็นจำเป็นต้องลงทุนพาตัวละครออกไปถึงระบบสุริยะจักรวาลอื่น แค่ดำเนินเหตุการณ์อยู่บนโลกแห่งเถ้าธุลีใบเล็กๆ นี้ก็ได้ แต่อย่างว่าหนังเรื่องดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับประสบการณ์ IMAX สักเท่าไหร่