วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

The Hunger Games: Catching Fire



ในฉากจบของ The Hunger Games คนดูเริ่มจะพบเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัว แคตนิส เอเวอร์ดีน (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) รวมไปถึงภาพลักษณ์ของเธอในสายตามวลชนและในสายตาประธานาธิบดีสโนว์ (โดนัลด์ ซุทเธอร์แลนด์) เธอเริ่มต้นเข้าสู่เกมล่าชีวิตด้วยความต้องการจะปกป้องน้องสาว และพยายามเอาตัวรอดในเกมด้วยทักษะของคนที่ต้องปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เล็กเพื่อโอบอุ้มครอบครัวให้รอดพ้นจากภาวะอดตาย (พ่อของเธอเสียชีวิตไปนานแล้ว ส่วนแม่ก็อ่อนแอเกินกว่าจะเป็นเสาหลักให้ลูกๆ พึ่งพิง) ความคล่องแคล่ว นิ่งเรียบจนดูเยือกเย็นในลักษณะของมืออาชีพช่วยให้เธอรอดพ้นจากอันตรายรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย หรือศัตรูที่รายรอบอยู่ทั่วไป แต่เธอก็หาได้กระหายเลือด หรือเห็นความสนุกจากการฆ่าสิ่งมีชีวิตเหมือนผู้เข้าแข่งขันบางคน

จากความพยายามแค่จะอยู่ให้รอดปลอดภัยในตอนแรก (และอาจมีโอกาส “ชนะ” เกมล่าชีวิตครั้งนี้) เธอกลับเริ่มผูกพันกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น เช่น รู (อแมนดลา สเตนเบิร์กเด็กหญิงจากเขต 11 และ พีต้า (จอช ฮัทเชอร์สัน) ชายหนุ่มจากเขต 12 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมอบขนมปังให้แคตนิส ช่วยให้เธอรอดตายจากความหิวโหย นั่นเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้เธอมองเห็น ภาพรวม ในมุมกว้างขึ้น จิตใจเธอหาได้มุ่งมั่นแค่การเอาตัวรอดจากเกม หรือช่วยครอบครัวให้ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังเริ่มเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนมนุษย์คนอื่น ที่ถูกเกณฑ์มาร่วมแข่งขันในเกมอันไร้แก่นสาร ไร้มนุษยธรรมเกมนี้ ดังจะเห็นได้จากความจงใจฆ่าเพียงครั้งเดียวของแคตนิสในเกม คือ เมื่อเธอปลิดชีพคาโต (อเล็กซานเดอร์ ลุดวิกไม่ใช่เพื่อแก้แค้น หรือเน้นสะใจ แต่เพื่อช่วยให้เขาพ้นทุกข์จากความทรมาน รวมไปถึงการยินยอมจะกินเบอร์รีพิษเพื่อฆ่าตัวตายแทนการลงมือสังหารพีต้า เพราะกฎของเกมระบุให้ต้องมีผู้รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ในเวลาเดียวกันการยอมเปลี่ยนกฎแบบกะทันหันของแคปิตอลให้สามารถมีผู้ชนะได้ 2 คนก็จุดประกายให้มวลชนใน 12 เขตปกครองเริ่มมองแคตนิสเป็นเหมือนตัวแทนของขบถที่คัดค้านแข็งขืนต่อรัฐบาล/ผู้มีอำนาจ (และสุดท้ายก็คว้าชัยมาครองนับจากนี้ไปเธอจึงไม่ใช่เพียงผู้ชนะการแข่งขันเกมล่าชีวิต แต่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังที่จะล้มล้างการกดขี่ ตลอดจนความอยุติธรรมในสังคมอันเกิดจากรัฐบาลเผด็จการอีกด้วย (ซึ่งนั่นย่อมทำให้เธอกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดีสโนว์ไปโดยปริยาย) เฉกเช่นเข็มกลัดรูปนกม็อกกิ้งเจย์ ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นเครื่องหมายของการปฏิวัติในระดับมหภาคโดยมีชีวิตคนจำนวนมากเป็นเดิมพัน

น่าเสียดายที่เวอร์ชั่นหนังไม่ได้อธิบายที่มาที่ไปของนกม็อกกิ้งเจย์มากเท่าในนิยาย (บางทีมันอาจถูกยกยอดไปยังภาค 3.1กล่าวคือ มันเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างนกม็อกกิ้งเบิร์ดตัวเมียกับนกแจ็บเบอร์เจย์ตัวผู้ ซึ่งเดิมทีเป็นนกตัดต่อพันธุกรรมที่แคปิตอลสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นนกสายลับ ส่งไปจดจำข้อมูลจากกลุ่มกบฏมารายงาน แต่ต่อมาฝ่ายกลุ่มกบฏเกิดจับทางได้ จึงมักจะส่งข้อมูลลวงผ่านทางนกแจ็บเบอร์เจย์มาโดยตลอด เมื่อทางแคปิตอลรู้ความจริงจึงสั่งปิดห้องทดลอง แล้วปล่อยนกแจ็บเบอร์เจย์เข้าป่าด้วยความหวังว่าพวกมันจะสูญพันธุ์ไปเอง (เพราะมีแต่ตัวผู้) ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่สิ่งที่แคปิตอลคาดไม่ถึง คือ ก่อนจะสูญพันธุ์พวกมันได้ผสมพันธุ์กับนกม็อกกิ้งเบิร์ดตัวเมีย ส่งผลให้ลูกหลานที่ออกมากลายเป็นนกม็อกกิ้งเจย์ ที่อาจจดจำข้อมูลไม่ได้เหมือนแจ็บเบอร์เจย์ แต่กลับมีความสามารถในการเลียนเสียงมนุษย์ หรือเสียงเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ มันยังเป็นนกที่แข็งแกร่ง สมบุกสมบัน และมีชีวิตอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย อาจพูดได้ว่าคุณสมบัตินี้สามารถใช้อธิบาย แคตนิส เอเวอร์ดีน ได้เช่นกัน

แคปิตอลมองว่านกม็อกกิ้งเจย์เป็นสัญลักษณ์ของกบฏ เพราะนอกจากมันจะตอกย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการกำจัดสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นเองกับมือแล้ว สิ่งที่น่าเจ็บใจยิ่งไปกว่านั้น คือ มันกลับพัฒนาสายพันธุ์จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดีกว่า แข็งแกร่งกว่าเดิมอีกด้วย

เช่นเดียวกับนกม็อกกิ้งเจย์ แคปิตอลปล่อยแคตนิสลงสนามประลอง ด้วยความเชื่อว่าเธอจะจบชีวิตจากอุปสรรคและหายนะสารพัด หรือไม่ก็ด้วยน้ำมือของผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ที่แกร่งกล้ากว่า มีสัญชาตญาณนักฆ่ามากกว่า แต่สุดท้ายเธอกลับรอดชีวิตมาได้ แถมยังพัฒนาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ยิ่งใหญ่กว่า พร้อมกับถ่ายทอดไฟขบถต่อไปยังผู้คนอีกจำนวนมหาศาล ใน Catching Fire เรื่องราวของของแคตนิสเริ่มขยายไปยังโลกความจริงนอกเกมล่าชีวิต สู่ความขัดแย้ง แตกต่างทางชนชั้น และเกมการเมืองเพื่อปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนของรัฐเผด็จการ นั่นคือ สร้างความหวาดกลัวให้แพร่กระจายทั่วทุกหัวระแหง แคตนิสได้เห็นเจ้าหน้าที่รัฐสังหารคนบริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยมด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย เธอเริ่มตระหนักถึงการต่อสู้ที่กำลังดำเนินอยู่โดยมีตัวเธอเองเป็นศูนย์กลางทางสัญลักษณ์ ซึ่งถูกถ่ายทอดเป็นรูปธรรมชัดเจนในฉากสำคัญ เมื่อแคตนิสสวมชุดแต่งงานไปออกรายการทอล์คโชว์ ก่อนมันจะแปลงสภาพกลายเป็นชุดนกม็อกกิ้งเจย์สยายปีก ฉากดังกล่าวไม่เพียงส่งเสริมความหมายในเชิงการเล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังสื่อนัยยะในเชิงเฟมินิสต์อีกด้วย บ่งบอกให้เห็นว่าตัวละครเอกได้สลัดหลุดจากกรงขัง แล้วโบยบินสู่อิสรภาพเต็มรูปแบบ จากสถานะภรรยา (ชุดแต่งงาน) ที่ต้องนิยามตัวตนผ่านความรักต่อเพศชาย สู่ปัจเจกภาพ (ชุดนก) ที่นิยามตนเองและยืนหยัดได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร

หลายคนมักหยิบยกกระแสนิยมในตัวนิยายชุด The Hunger Games ของ ซูซานน์ คอลลินส์ ไปเปรียบเทียบกับกระแสนิยมของนิยายชุด Twilight ของ สเตฟานี เมเยอร์ ที่ถูกดัดแปลงเป็นหนังยอดนิยมเช่นกัน เริ่มจากการที่ตัวละครเอกเป็นเพศหญิงช่วงวัยทีนเอจ (ตรงกับอายุโดยเฉลี่ยของกลุ่มผู้อ่านหลักพล็อตรักสามเส้าระหว่างชายสองหญิงหนึ่ง ไปจนถึงเนื้อหาที่ผสมผสานแฟนตาซี/ไซไฟและดำเนินเหตุการณ์ต่อเนื่องในลักษณะไตรภาคสำหรับกรณีแรก หรือจตุรภาคสำหรับกรณีหลัง อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้เด่นชัด คือ ถึงแม้ เบลลา ตัวละครเอกใน Twilight จะเป็นเพศหญิง แต่พลังขับเคลื่อนทางเรื่องราวที่แท้จริงกลับเป็นเพศชาย (เอ็ดเวิร์ด) นอกจากนี้หนัง/นิยายยังพุ่งประเด็นไปยังความพยายามของเบลลาที่จะสูญเสียตัวตน (ยอมสละความเป็นมนุษย์เพื่อก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของชายคนรัก เธอเป็นตัวละครที่ค่อนข้างมีลักษณะเชิงรับมากกว่าเชิงรุก มีบุคลิกอ่อนแอ บอบบาง และต้องคอยพึ่งพาเอ็ดเวิร์ดเพื่อให้รอดพ้นจากภัยคุกคามอยู่ร่ำไป (สาเหตุหนึ่งเพราะเขาเป็นแวมไพร์จนชวนให้น่าสะพรึงว่าเหตุใดมนุษย์เพศหญิงจำนวนมากถึงโหยหาสถานะทางเพศแบบย้อนยุคไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน

ถ้า Twilight เป็นฝันร้ายของเฟมินิสต์ The Hunger Games ก็คงเปรียบเสมือนขั้วตรงข้าม เพราะตัวละครเอกเพศหญิงอย่างแคตนิสยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตัวเองและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเรื่องราว ที่สำคัญ กระทั่งประเด็นรักสามเส้าเองก็เหมือนไม่ได้ถูกขับเน้นให้โดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆ อย่างการวิพากษ์การเมือง ชนชั้น วัฒนธรรมความบันเทิง ฯลฯ ส่วนแคตนิสนั้น (อย่างน้อยก็ในเวอร์ชั่นหนังก็ดูจะไม่มีท่าทีเดือดเนื้อร้อนใจมากมายนักกับการต้องเลือกระหว่างเกล (เลียม เฮมส์เวิร์ธ) และพีต้า เพราะความรักไม่ได้นิยามตัวเธอ ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต (เหมือนกรณีเบลลาราวกับว่าเธอยังมีเรื่องสำคัญอื่นๆ ให้ต้องขบคิดมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า Catching Fire จะปราศจากช่วงเวลาแห่งความอ่อนหวาน นุ่มนวลเสียทีเดียว ดังจะเห็นได้จากฉากที่พีต้ามอบจี้ห้อยคอแก่แคตนิสพร้อมกับพูดว่าเธอจำเป็นต้องมีชีวิตรอดต่อไปครอบครัวเธอต้องการเธอ” เขากล่าว ก่อนจะเสริมว่า ไม่มีใครต้องการฉันจริงๆ หรอก” ด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ ปราศจากความรู้สึกสงสาร หรือสมเพชตัวเองใดๆ แค่ระบุข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ดุจเดียวกับคำตอบของหญิงสาวที่ว่า ฉันไง ฉันต้องการเธอ... ถึงแม้ฉากดังกล่าวจะถูกนำเสนอเพียงช่วงเวลาสั้นๆ โดยปราศจากดนตรีโหมประโคม หรือเสียงเพลงโรแมนติกเคล้าคลอ (ซึ่งดูจะเหมาะสมกับบุคลิกจริงจัง ไม่เพ้อฝัน เพ้อเจ้อของตัวละครเอกอย่างลงตัวแต่กลับจับใจและได้อารมณ์สมจริงยิ่งกว่าหนังชุด Twilight ห้าภาครวมกันด้วยซ้ำ

ผู้กำกับ ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ (I Am Legend) ก้าวเข้ามารับหน้าที่ต่อจาก แกรี รอส (Seabiscuit) ได้อย่างแนบเนียน พร้อมทั้งลดทอนความดิบในแง่สไตล์ลง ทั้งกล้องแบบแฮนด์เฮลด์และการตัดต่อแบบฉับไว เพื่อหันเข้าหาเส้นทางคลาสสิกที่นิ่งเรียบกว่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เมื่อขอบเขตเนื้อหาของหนังเริ่มแผ่ขยายจากเกมเลือดสาดในลักษณะBattle Royale ไปสู่การท้าทายผู้มีอำนาจ หลังจากแคตนิสกับพีต้าตระเวน “ทัวร์ ไปตามเขตต่างๆ ซึ่งทำให้พวกเขาพบเห็นปัญหาและศัตรูที่แท้จริง หลังจากพวกเขาตระหนักว่าผู้คนกว่า 90% ของพาเน็มกำลังจะอดตาย ขณะที่อีก 10% กลับใช้ชีวิตหรูหรา ฟู่ฟ่า ขนาดต้องทำให้ตัวเองอ้วกเพื่อจะได้กินเพิ่มเข้าไปใหม่ ส่วนใครก็ตามที่หาญแสดงท่าทีขัดขืน หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อแคปิตอลก็จะโดนประหารทันทีต่อหน้าสาธารณชน

ความคั่งแค้นที่สั่งสมมายาวนานกำลังใกล้ถึงจุดระเบิดเต็มที สภาพของพาเน็มในตอนนี้ก็ไม่ต่างจากอาณาจักรโรมันในช่วงล่มสลาย สงครามเริ่มส่อเค้าชัดเจนขึ้นทุกขณะ เมื่อกระแสปฏิวัติ การประท้วง และการต่อสู้แพร่กระจายไปตามเขตต่างๆ ดุจไฟลามทุ่ง ดูเหมือนว่าคราวนี้ภาระรับผิดชอบของแคตนิสจะไม่ได้กินความอยู่แค่ครอบครัว ตลอดจนคนสนิทรอบข้างอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงเหล่าประชากรในเขตต่างๆ ที่มองเห็นเธอเป็นเหมือนแสงเรืองรองแห่งความหวังอีกด้วย วิญญาณขบถของเด็กสาว ที่เริ่มต้นจากการฝ่าฝืนกฎเล็กๆ ของผู้มีอำนาจ เช่น การออกไปล่าสัตว์ในเขตหวงห้าม หรือแลกซื้อสินค้าในตลาดมืด กำลังจะถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น แล้วเบ่งบานสู่การเรียกร้องความเท่าเทียม ตลอดจนความยุติธรรมให้แก่มวลชน


แต่ราคาที่เธอต้องจ่ายจะสูงแค่ไหน ฉากจบของ Catching Fire บ่งบอกเป็นนัยว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาใน Mockingjay (ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็นสองภาคตามหลักแห่งทุนนิยมอาจไม่ชวนให้พิสมัยนัก สงครามเต็มรูปแบบได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ความบันเทิง” ที่ชาวแคปิตอลเสพติดกันนักหนาก็กำลังจะกลายเป็น ความจริง” ในระยะประชิด 

ไม่มีความคิดเห็น: